School of Ganesh การแสดงที่ชวนปอกเปลือก โขน และสัมผัสแก่นแกนแห่ง Dance
Focus
- School of Ganesh การแสดงร่วมสมัยที่ชวนเปิดแก่นแห่ง โขน ในมุมมองของ จิตติ ชมพี ซึ่งเต็มไปด้วยความน่าทึ่ง ดูสนุก กระตุกต่อมและกระตุ้นการศึกษาภูมิปัญญาของชาติ
- ลูกโป่ง เสื้อเชิ้ต กางเกงวอร์ม ศีรษะโขนประเภทสัตว์ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เสมือนหุ่นปั้นสมจริง และแผ่นผนังเกลี้ยง ๆ คือไวยกรณ์หลักของ School of Ganesh
เอ่ยถึง Contemporary Dance หลายคนอาจขมวดคิ้วใส่ ชวนดูนาฏศิลป์ไทยก็อ้างว่าซ้ำซาก ยิ่งถ้าถูกชวนไปดูการแสดงร่วมสมัยที่มีบริบทของนาฏกรรมราชสำนักอย่าง โขน คงมิวายส่ายหน้ากันแต่ School of Ganesh ที่ จิตติ ชมพี แห่งคณะ 18 Monkeys Dance Theatre สร้างสรรค์กลับตรงกันข้าม นอกเหนือจากความสวยงามทางลีลาและความแปลกใหม่ในท่วงท่าการแสดงที่ใช้เพียงเวทีเปล่า ๆ แล้ว โขน ในมุมมองของจิตติชิ้นนี้กลับเต็มไปด้วยความน่าทึ่ง ดูสนุก กระตุกต่อมและกระตุ้นการศึกษาภูมิปัญญาของชาติต่อหลังชมการแสดงจบ
น่าแปลกที่ว่าในบรรดา 7 นักแสดง School of Ganesh มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีฐานมาจากนาฏศิลป์ไทยส่วนอีก 3 คนมาจากสายแดนซ์ (Dance) โดยมีมืออาชีพชาวฝรั่งเศส 2 คน ส่วนอีก 2 คนที่เหลือกลับตั้งต้นเส้นทางนักเต้นจากสายกายกรรม กระนั้นทุกคนต่างสามารถสื่อนวัตกรรมของการเคลื่อนไหวที่เป็นสากลของจิตติได้อย่างสอดประสานซึ่งเจ้าตัวเปรียบแนวทางการสร้างสรรค์งานของเขาว่าเป็นการสำรวจสถาปัตยกรรมของร่างกาย (Body Architecture)
ลูกโป่ง เสื้อเชิ้ต กางเกงวอร์ม ศีรษะโขนประเภทสัตว์ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เสมือนหุ่นปั้นสมจริง และแผ่นผนังเกลี้ยง ๆ เป็นสิ่งที่ Choreographer ชั้นนำของไทยผู้นี้นำมาเป็นไวยากรณ์หลักของเขา เมื่อมองดูด้วยตาแล้วกลับไม่มีส่วนไหนที่โยงถึงความเป็นไทย แต่ครั้นเมื่อปรากฏพร้อมกับการให้เสียงผ่านเครื่องประกอบจังหวะอย่างกรับพวง ฉิ่ง บทร้อง การพากย์และเจรจา ด้วยฐานของเนื้อหาที่มาจากวรรณกรรมคลาสสิกอย่างรามเกียรติ์ที่แม้จะมาอย่างเป็นเพียงเศษเสี้ยว ไม่ได้ถูกเล่าอย่างเป็นเรื่องราวก็ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือผลงานของคนไทย ว่าด้วยวัฒนธรรมไทยที่กลับห่างไกลจากความเชยล้าสมัย
สืบสานมรดกสานต่อความสำเร็จ
School of Ganesh เป็นระยะ2 ของโครงการที่ใช้ชื่อว่า โครงการพัฒนาองค์ความรู้โขนและเผยแพร่ในระดับสากลแบบร่วมสมัย ด้วยการสนับสนุนหลักจากกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ ที่ต่อเนื่องมาจาก โครงการพัฒนาองค์ความรู้จากศิลปะการแสดงโขนและร่างกายศึกษา ในระยะที่ 1 ซึ่งได้ผลผลิตการแสดงชิ้นเยี่ยมในชื่อ Melancholy of Demon จัดแสดงเมื่อมีนาคม พ.ศ. 2564 โดยมี คุณใหม่-ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์และหัวหน้าที่ปรึกษาโครงการ
จุดเริ่มต้นโปรเจกต์ทั้งหมดมาจากความประทับใจของคุณใหม่หลังได้ชมการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตอน “สืบมรรคา” เมื่อ พ.ศ.2562 และมาชมการแสดงที่ได้แรงบันดาลใจจากการตีความเนื้อเรื่องระหว่าง เกสรทมาลา กับ มังกรกัณฐ์ ในการออกแบบท่าเต้นของจิตติ จึงได้ชักชวนให้เขามาร่วมโครงการที่มุ่งถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นใหม่นี้
“ต้องขอบคุณทุกคนที่เปิดโอกาสให้ผมในครั้งนี้ ทั้งคุณใหม่และเหล่าครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ได้แก่ ครูปกรณ์ พรพิสุทธิ์ (ตัวพระ) ครูประสาท ทองอร่าม (พากษ์) ครูจรัญ พูลลาภ (เขียนบท) จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ครูศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ) และครูสุรัตน์ จงดา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ที่กรุณาให้ความรู้ผม” จิตติกล่าว
เมื่อคนไม่ได้เป็น FC โขน ต้องมาส่องโขน
“ทีม (คุณใหม่กับจิตติ) ได้เก็บข้อมูลกับบรรดาครู ๆ มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว (พ.ศ.2563) หมั่นไปหาแทบทุกสัปดาห์โดยเป็นการคุยแบบเปิด ปล่อยให้ครูเล่าไปเรื่อย ๆ แต่ก็แอบเก็บข้อสงสัยบางอย่างที่มีอยู่ในใจอยู่ก่อน อย่างเชือกคาบที่คาบไว้เพื่อให้ศีรษะแนบสนิทกับใบหน้าและช่องตาที่เจาะไว้เพื่อการมองเห็นโดยไม่เลื่อนออกจากรัศมีการมอง ซึ่งเราแอบสังเกตว่าแม้เวลาไม่สวมศีรษะแต่นักแสดงก็ยังติดอาการขยับปากจั๊บ ๆ อยู่ตลอดขณะซ้อม รวมถึงการทัดดอกไม้ของตัวหัวหน้าฝ่ายยักษ์ที่ดุดันอย่างทศกัณฐ์ซึ่งดูไม่เข้ากันแต่กลับเข้า” จิตติย้อนเล่า
เกร็ดรายละเอียดเล็กน้อยต่าง ๆ ที่คนโบราณแอบทิ้งไว้ให้ฉงนเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาสนใจมากและอยากนำมรดกเหล่านี้ไปต่อยอดโดยเฉพาะกับเยาวชน โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดแนวทางในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะการแสดงของชาติอย่างมีการตั้งคำถาม เพื่อนำไปต่อยอดอย่างมีราก ซึ่งคำตอบที่ได้ไม่สามารถหาได้ในหนังสือ ค้นไม่ได้ใน Google นอกจากการบอกเล่าจากตัวครูเอง
“ตัวอย่างหนึ่งที่ผมนำมาต่อยอดคือเรื่อง อุปปาติกะนนทกสีซอ ที่ทำจากสังขารเก่าของตัวเองที่ก่อนจะเกิดมาเป็นนนทก ซึ่งปรากฏอยู่ในจิตรกรรมภาพเขียนฝาผนังวัดพระแก้วเพื่ออธิบายที่มาของชาติกำเนิดทศกัณฐ์ โดยครูได้เอ่ยออกมาอยู่คำหนึ่งว่าเป็นเรื่องของการใช้ร่างกายตนเองเป็นเครื่องดนตรี ซึ่งแนวคิด Body Becomes an Instrument นี่เองทำให้ผมนำมาเป็นแนวคิดหลักหนึ่งของการแสดง Melancholy of Demon”
น่าดีใจที่ว่านอกจากจะถอดองค์ความรู้ด้านโขนมาเป็นภาคการแสดงแล้ว จิตติยังได้รับโอกาสให้ผลิตหนังสารคดีที่ว่าด้วยเกร็ดโขน 5 ประเด็นความรู้ ในความยาวตอนละ 5-10 นาที รวมทั้งหมด 5 ตอน มุ่งส่งต่อมรดกไทยสู่คนรุ่นใหม่อย่างแฝงนัย เริ่มจากการตั้งคำถามกับสิ่งที่คนรุ่นเก่าก่อนได้สร้างไว้เพื่อนำไปสู่ความสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในวิถีทางตนเอง
นอกจากนี้เขายังได้รับมอบหมายให้ผลิตหนังสือปกแข็งอย่างดีที่รวบรวมเกร็ดน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับโขนที่นอกจากแจกจ่ายให้แก่ห้องสมุดแล้วยังเตรียมไว้ให้ทางกระทรวงต่างประเทศเพื่อมอบเป็นหนังสือที่ระลึกกับบรรดาทูตานุทูต และวาระทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวแทนของมรดกภูมิปัญญาไทย
ยากซ้อนยากของนักแสดงในวิถีของจิตติ
เอกลักษณ์เด่นของงานของจิตติและยิ่งเข้มข้นขึ้นใน School of Ganesh คือการซ่อนที่มาของลักษณะตัวละครที่มีลักษณะพิลึกบิดเบี้ยวประหนึ่งไม่ใช่สิ่งมีชีวิตปกติ หลายครั้งทำให้คนดูไม่แน่ใจว่าเรากำลังดูนักแสดง 1 หรือ 2 หรือกี่คนกันแน่ที่ประดิษฐ์ท่วงท่าลีลานี้ให้ได้ชม และหากเป็นเช่นนั้นจริงพวกเขาสามารถประสานท่าและการเคลื่อนไหวที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ตามหลักสรีระหรือแรงโน้มถ่วงของโลกนี้ได้เช่นไร
อีกเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจคือการล้อเทคนิคการแสดงแบบมีหัวโขนตามแบบประเพณี ทว่า School of Ganesh กลับใช้หัวที่ทำจากลูกโป่งที่ดูกระดุกกระดิกไปมาแทน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าวิธีการใช้หัวโขนในการร่ายรำนั้นองศาในการบิดหรือเอียงศีรษะมีผลต่อการถ่ายทอดทางอารมณ์ได้สุนทรีย์อย่างไร ไม่ใช่เคลื่อนไหวไปอย่างไร้ทิศทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในการแสดงแบบประเพณี แต่ตรงกับวัตถุประสงค์ของจิตติที่ต้องการให้คนดูตั้งคำถามกับขนบ โดยเทคนิคนี้ได้ อาจารย์อนุชา สุมามาลย์ นักแสดงโขนแนวหน้าของกรมศิลปากร มาเป็นผู้ร่วมศึกษาและทดลองรวมถึงเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาทางด้านนาฏศิลป์ระหว่างการฝึกซ้อม โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการรับบทบาทที่หลากหลายของครูหนุ่มฝีมือจัดจ้านผู้นี้
การเคลื่อนไหวของนักแสดงใน School of Ganesh มีความยากกว่าการแสดงปกติ 2 เท่าตัว เพราะนอกจากจะมองเห็นไม่ถนัดด้วยการซ่อนหัวอยู่ภายใต้เสื้อเชิ้ตแขนยาวแล้วนักเต้นทั้ง 7 ยังต้องเคลื่อนไหวไปพร้อมกับนักเต้นคนอื่นอีก 1-2 คนเพื่อประกอบร่างเสมือนเป็นตัวละครตัวหนึ่งโดยไม่ได้ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำกับหรือนำอีกฝ่ายแต่เป็นลักษณะของการเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นจังหวะเวลาและภาพในหัวของนักแสดงทุกคนจึงต้องแม่นยำตลอดจนความเข้าใจในพื้นที่ที่ใช้ในการแสดงรวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่และอุปกรณ์ประกอบอย่างลูกโป่งด้วย
“งานชิ้นนี้ของผมออกจะเป็น Scenography (การออกแบบภาพที่ปรากฏบนเวทีแสดง) มากกว่า Choreography (การประดิษฐ์ท่วงท่าลีลา) ใช้ร่างกายมนุษย์สร้างภาพนิ่งที่เรียงติด ๆ กันไปฉะนั้นนักเต้นจึงต้องใช้จินตนาการสูง กลุ่มนักแสดงที่ไม่มีพื้นฐานการแสดงนาฏศิลป์ไทยสามารถรังสรรค์การเคลื่อนไหวที่มีไวยากรณ์นาฏศิลป์ไทยแทรกอยู่ได้เป็นอย่างดีเ พราะว่าฐานแน่นและมีความทรงจำของกล้ามเนื้อที่ให้อะไรไปก็สามารถจำได้” จิตติกล่าวชื่นชมนักแสดง
ในงาน Melancholy of Demon เมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 ได้โยงกับตอนสำคัญ ๆ ของตัวละครทศกัณฐ์และมีการล้อภาพที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังอย่างเด่นชัด แต่ใน School of Ganesh ตัวละครเอกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ นางสำมนักขา และฉากสำคัญที่เลือกมาถ่ายทอดคือ ฉากจองถนน และลีลาหลักที่ถูกนำมาศึกษาคือ กลุ่มตัวละครสัตว์ป่าและมีลักษณะกึ่งสัตว์จากตำนานป่าหิมพานต์และเทพปกรณัมต่าง ๆ ของไทยซึ่งแน่นอนว่าได้ถูกนำมาตีความใหม่ให้มีความร่วมสมัยและสามารถชมได้แม้ไม่มีพื้นฐานในการดูโขนและเรื่องราวรามเกียรติ์มาก่อน
เส้นทางที่เติบโตของ จิตติ ชมพี
จริง ๆ แล้วถือว่าอดีตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่างจิตติเริ่มต้นเส้นทาง Choreographer ในการออกแบบท่าเต้นนาฏศิลป์ร่วมสมัยออกจะช้าไปโดยเขาเริ่มต้นในวัย 30 หลังจากการก่อตั้งคณะ18 Monkeys Dance Theatre เมื่อ 11 ปีที่แล้ว แต่ความสำเร็จมีให้เสมอกับคนที่มุ่งมั่นตั้งใจและมีความสามารถ จิตติและคณะก็ได้รับเทียบเชิญไปแสดงทั่วโลกมากมาย แต่สองความภาคภูมิใจสูงสุดคือ การได้เป็นศิลปินในพำนักของ Kylian Foundation and Korzo Theatre เมื่อ พ.ศ. 2559 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และการได้ร่วมแสดงกับวงแจ๊สชั้นนำอย่าง Escalandrum ที่นำวงโดย Daniel Piazzolla ผู้เป็นหลานของ Astor Piazzolla นักประพันธ์เพลงแทงโก้ระดับตำนานของอาร์เจนตินา
และล่าสุดเขาก็ได้รับเกียรติขั้นสูงในระดับนานาชาติไปอีกขั้นจากการได้เหรียญรางวัลชั้นอัศวิน Chevalier des Arts et Lettres ที่มอบให้แก่ศิลปินและผู้ทำงานด้านวัฒนธรรมจากรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งจะทำพิธีมอบในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ก่อนการแสดง School of Ganesh จะเปิดฉาก
“แต่ไหนแต่ไรผมไม่ได้เป็นแฟนคลับโขนละครที่คอยตามดูอะไรแบบนั้น แต่พอมาทำแล้วเห็นเนื้อหาสาระ มองข้ามจุดที่อาจจะเคยมองจับผิดในการแสดง มาใส่ใจในแก่นแท้ที่ซ่อนอยู่ข้างในของโขน องค์ความรู้ที่ถอดได้ หวังว่าจะเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนศิลปะการแสดงตามโรงเรียนในอนาคต ไม่ใช่เรียนเพื่อทำตาม แต่เพื่อการเข้าใจรากทางวัฒนธรรมในวิถีที่ย่อยง่ายขึ้น
“การใช้เกร็ดต่าง ๆ มาเป็นฐานในการสร้างสรรค์ให้มีความร่วมสมัยและตีความใหม่แบบนี้จะดึงคนรุ่นใหม่ไปสนใจโขนได้มากกว่าที่จะดึงเขาไปดูการแสดงโขนแบบดั้งเดิมเลยในทันที และหวังว่าสิ่งที่ทำลงไปจะเป็น Springboard ในฐานะผู้ออกแบบสร้างสรรค์งานเต้นในการไปศึกษาส่วนอื่น ๆ ที่ลึกลงไปในโขนและศิลปะการแสดงของไทย” จิตติกล่าวปิดท้าย
Fact File
- การแสดงร่วมสมัย School of Ganesh จัดแสดงที่ ลิโด้ คอนเน็คท์ โดยรอบวันที่ 12-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 สำหรับแขกรับเชิญ, รอบวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 สำหรับบุคคลทั่วไป และรอบวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 สำหรับนักเรียนนักศึกษา
- การสัมมนาเชิงวิชาการ “เกร็ดโขน” จัดที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 15.00-18.00น. หัวข้อ “Back to the Basics: A Dialogue between the Traditional and the Contemporary” นำโดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ และหัวข้อ “เกร็ดดนตรีสำหรับการแสดงโขน:การออกแบบเสียงในการแสดงด้วยแนวคิด Minimalism” โดย รศ. ดร.พรประพิตร์ เผ่าสวัสดิ์ และดุริยางคศิลปินอาวุโส สุรพงศ์ โรหิตาจล ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยสำนักงานสังคีตกรมศิลปากรพร้อมกับงานเปิดตัวหนังสือ “เกร็ดโขน” ในเวลา 19.00 น.
- ผู้สนใจรับชมการแสดงสามารถลงทะเบียนสำรองบัตรและที่นั่งได้ที่ 18monkeysdancetheatre@gmail.com, Line ID: Khon2021, Facebook: 18monkeysdancetheatre รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก: www.18monkeysdancetheatre.com/
- ในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ทำการแสดงสดไม่ได้ ผู้จัดจะดำเนินการจัดฉายการแสดงแบบออนไลน์แทนเป็นจำนวน 4 รอบ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจและเครือข่ายผู้สนับสนุนการเผยแพร่ของโครงการ เช่น สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ, สถานทูตฝรั่งเศส, สยามสมาคมฯ เป็นการทดแทน