ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซนกับบทบาทภัณฑารักษ์เล่าเรื่อง โขน ในบริบทร่วมสมัย

  • คุณใหม่ – ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ในการนำประเด็นเรื่องโขนมานำเสนอในโครงการพัฒนาองค์ความรู้จากศิลปะการแสดงโขนและร่างกายศึกษา ผ่านภาพยนตร์สารคดี ศิลปะการแสดงและการเสวนา
  • ภาพยนตร์สารคดีหยิบยก 5 หัวข้อของเกร็ดโขนมานำเสนอ และศิลปะการแสดงเรื่อง Melancholy of Demon ถ่ายทอดเรื่องราวของทศกัณฐ์โดยการกำกับของ จิตติ ชมพี ผู้ก่อตั้ง 18 Monkeys Dance Theatre

เมื่อ คุณใหม่ – ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ได้มีโอกาสชมการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตอนล่าสุดเมื่อปลายปีพ.ศ.2562 ในชื่อ “สืบมรรคา” รู้สึกประทับใจกับฉากที่ทศกัณฐ์สวมหน้าทองและรำฉุยฉายเกี้ยวพาราสีนางสีดาเป็นอย่างมากแม้ในขณะนั้นตนเองไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวรามเกียรติ์และนาฏศิลป์ชั้นสูงมากนัก

คุณใหม่ – ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

“เราไม่ได้เติบโตในเมืองไทยแต่เรียนในระบบการศึกษาของอเมริกา เราไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโขนและไม่มีพื้นฐานศิลปะการแสดงมาก่อน เมื่อดูโขนเราก็ไม่เข้าใจ 100%แต่ในฉากที่ทศกัณฐ์ร่ายรำแสดงความรักแก่นางสีดาเป็นฉากที่เราประทับใจและเริ่มรู้สึกเข้าถึงโขนเพราะเราสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้แสดงส่งผ่านท่าร่ายรำที่สง่างามที่แฝงไปด้วยความหมายและเสียงดนตรีประกอบ ดังนั้นเราจึงเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจเรื่อง โขน ได้ลึกซึ้งมากขึ้นและด้วยวิธีการสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่าย”

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ โครงการพัฒนาองค์ความรู้จากศิลปะการแสดงโขนและร่างกายศึกษา (Khon:The Human Body: Embodiment,Knowledge Management) โดยคุณใหม่รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ เริ่มต้นด้วยการนำเสนอองค์ความรู้และเกร็ดต่าง ๆ ของโขนในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีความยาว 1 ชั่วโมงในชื่อ “เกร็ดโขน” (Miscellany of Khon) โดยจะฉายที่ลิโด้ คอนเนค สยามสแควร์ ในวันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ. 2564

หลังจากนั้นเป็นการตีความเรื่องราวของทศกัณฐ์ในบริบทร่วมสมัยผ่านศิลปะการแสดงเรื่อง Melancholy of Demon ซึ่งออกแบบและสร้างสรรค์โดย จิตติ ชมพี ผู้ก่อตั้งคณะการแสดง 18 Monkeys Dance Theatre ที่ลิโด้ คอนเนคในระหว่างวันที่ 18-22 มีนาคม พ.ศ. 2564 และปิดท้ายด้วยเสวนาโต๊ะกลมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ศิลปะโขนในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ โครงการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและกรมศิลปากรและแบ่งเป็น 2 เฟสโดยในเฟสแรกจัดขึ้นในเดือนมีนาคมและเฟสที่สองในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564

ฟุตเทจจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เกร็ดโขน

“คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าโขนเป็นเรื่องที่อธิบายยากและเรื่องรามเกียรติ์ก็มีความซับซ้อน มีหลายเวอร์ชั่น และหลายการตีความ การหยิบหัวข้อเรื่องโขนมาทำจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เราชอบทำเรื่องยากๆ เราชอบทำงานที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์และการเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน จริงๆแล้วประเพณีไทยต่างๆก็มีความสัมพันธ์กับเรื่องรามเกียรติ์และโขน เราจึงอยากให้คนทั่วไปเข้าใจศิลปะของโขนและความหมายต่างๆที่ซ่อนอยู่ได้มากขึ้นและในระดับที่ลึกขึ้นเราจึงอยากทำโครงการที่เชื่อมความร่วมสมัยเข้ากับประวัติศาสตร์เพราะประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา” คุณใหม่กล่าวถึงแนวคิดของโครงการ

ในภาพยนตร์สารคดีหยิบยก 5 หัวข้อของเกร็ดโขนมานำเสนอผ่านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโขน เช่น อาจารย์จรัญ พูลลาภ, รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์, ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม, และปกรณ์ พรพิสุทธิ์ รวมทั้งการตีความแง่มุมของเกร็ดโขนในรูปแบบศิลปะการแสดงโดยการกำกับของจิตติ ชมพี

ศิลปะการแสดงกำกับโดย จิตติ ชมพี

เกร็ดที่นำมาเสนอประกอบด้วยเรื่องเชือกคาบที่ผู้เเสดงโขนใช้คาบหรือกัดในขณะใส่ศีรษะโขนเพื่อควบคุมหัวโขนให้เป็นไปตามการเคลื่อนไหวของผู้เเสดง เรื่องความหมายที่ซ่อนอยู่ในท่ารำฉุยฉาย เรื่องซ่อนเร้นต่าง ๆ (Untold Stories) เช่น เรื่องที่พระอิศวรพิโรธทศกัณฐ์จึงขว้างงาช้างไปปักอกทศกัณฐ์และไม่สามารถดึงออกได้จนกว่าจะตาย รวมไปถึงเรื่องนางโขนที่แสดงโดยนักแสดงชายและเรื่องการพากษ์โขน

“จากที่ได้มีโอกาสคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่อง โขน ทำให้เราได้เรียนรู้หลายๆแง่มุมของโขน เช่น เขาจะไม่ใช้คำว่า ‘รำสวย’ กับโขน แต่ใช้ว่า ‘รำภูมิ’ เป็นภาษาอีกขั้นหนึ่งเพราะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นเรื่องของเทพ หรือเมื่อทศกัณฐ์ตาย จะไม่พูดว่าตายแต่ใช้คำว่า ‘ล้ม’ การร่ายรำของโขนต้องสง่างามและมีองศาของการเคลื่อนไหว เพราะเมื่อสวมหัวโขนคือการเป็นตัวแทนของเหล่าเทพทั้งหลาย หรือคนที่ทำหัวโขนในระหว่างการทำจะไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ทุกอย่างเกี่ยวกับโขนมีครูหมด” คุณใหม่กล่าว

จิตติเสริมว่าเขาสนใจเรื่องภาษาที่ใช้ในการพากย์และการสื่อสารระหว่างคนพากย์โขนกับนักแสดง

“โขนเป็นศิลปะชั้นสูงของราชสำนัก ภาษาที่ใช้พากย์ยากแต่เป็นภาษาที่สวย โขนไม่ใช่แค่ศิลปะแดนซ์หรือการแต่งกายอย่างเดียว แต่พูดถึงภาษาและวัฒนธรรม การใช้กลอนต่างๆ เป็นภาษาชั้นสูงมากทำให้เราก็ต้องมาคิดว่าเราจะนำเสนอประเด็นนี้อย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถ้าพวกเขาไม่เคยเรียนคำเหล่านั้นก็จะเข้าไม่ถึง นอกจากนี้ผมสนใจเรื่องคนพากย์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของโขนว่าเขา connect กับนักแสดงอย่างไร เพราะนักแสดงไม่ใช่ object เหมือนหนังใหญ่ที่ใช้คนเชิด นักแสดงมีสิทธิ์จะ improvise ตอนที่มีการพากย์หรือเจรจาดังนั้นด้วยประสบการณ์ศิลปินมีโอกาสที่จะตีความตามที่คนพากย์พูดถึงได้”

คุณใหม่ – ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และจิตติ ชมพี

การทำงานร่วมกันระหว่างคุณใหม่กับจิตติเกิดจากการที่คุณใหม่มีโอกาสได้ชมการแสดงของคณะ 18 Monkeys Dance Theatre ซึ่งผสมผสานศิลปะของโขนกับศิลปะการแสดงร่วมสมัยได้อย่างลงตัว

“การหาใครสักคนที่เชื่อมโยงโลกประวัติศาสตร์กับโลกศิลปะร่วมสมัยเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เป็นเรื่องที่ยากแต่งานของจิตติมีความน่าสนใจที่นำโขนและนาฏศิลป์ไทยมานำเสนอในบริบทร่วมสมัย โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพราะเรามีความสนใจคล้ายคลึงกันจึงมาถกกันว่าแก่นของโขนคืออะไรและเราจะหาสื่อกลางอะไรมาทำให้เแม้แต่คนที่ไม่เคยดูโขนเข้าใจและลงลึกได้มากขึ้น” คุณใหม่กล่าว

ในการแสดงเรื่อง Melancholy of Demon ระหว่างวันที่ 18-22 มีนาคม พ.ศ. 2564 นั้น จิตตินำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทศกัณฐ์ตั้งแต่เกิดจนตายจำนวน 5 ตอน

“การแสดงเป็นส่วนต่อขยายของสารคดี เราไม่ได้เน้นเพื่อความบันเทิงแต่เพื่อให้เกิดข้อคิด ข้อสงสัยและตั้งคำถาม ในแต่ละวันของการแสดงจะเล่าเรื่องทศกัณฐ์ในตอนต่างๆตั้งแต่เริ่มที่ยักษ์นนทกตายและเกิดใหม่เป็นทศกัณฐ์จนถึงตอนที่ทศกัณฐ์รำฉุยฉายลงสรงเป็นครั้งสุดท้ายเพราะรู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะตาย นอกจากนี้ยังมีตอนที่ไม่ค่อยกล่าวถึงเช่น นางสีดาไม่อาบน้ำ 14 ปีนับตั้งแต่โดนทศกัณฐ์ลักพาตัวมา และทำไมตลอดเวลา14 ปีนั้นทศกัณฐ์จึงไปหานางสีดาที่สวนขวัญเพียงแค่ครั้งเดียว

“จากการที่เราได้ไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่อง โขน ทำให้ได้ความรู้เยอะมากและพวกท่านตอบข้อสงสัยเราได้ทุกคำถาม เช่นผมสงสัยว่าทำไมทศกัณฐ์จึงมีภรรยาเป็นสัตว์เยอะก็ได้ความกระจ่างว่าเพราะทศกัณฐ์รู้อยู่แล้วว่าจุดจบเขาคือความตายจึงสร้างเผ่าพันธุ์ไว้เพื่อต่อกรกับพระรามโดยมีภรรยาที่อยู่ทั้งใต้บาดาล บนพื้นดินและบนสวรรค์ ครบทั้ง 3 ภพ” จิตติกล่าวถึงการแสดงที่จะแตกต่างกันตลอดทั้ง 5 วัน

ฟุตเทจจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เกร็ดโขน

ในการแสดงที่เลือกโฟกัสเฉพาะตัวทศกัณฐ์นั้น คุณใหม่ให้ความเห็นว่าเพราะทศกัณฐ์เป็นคาแรกเตอร์ที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ง่าย

“ทศกัณฐ์มีคาแรกเตอร์ที่ซับซ้อน ดุดันแต่ก็มีความโรแมนติกและอ่อนโยนซึ่งคนเราก็มีความซับซ้อนอยู่แล้วจึงทำให้ทศกัณฐ์เข้าถึงคนได้ง่าย เราพยายามสะท้อนตัวทศกัณฐ์ในหลายๆแง่มุม อย่างเราตอนที่ดูโขนพระราชทานตอนทศกัณฐ์สวมหน้าทองแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศและเอาดอกไม้ทัดหูออกมารำฉุยฉายเพื่อเกี้ยวนางสีดาเป็นการแสดงความรักและความอ่อนโยน เป็นการเผยด้านที่เปราะบางให้คนที่เรารักเห็น”

ในการทำงานด้านภัณฑารักษ์ คุณใหม่สนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์นับตั้งแต่นิทรรศการ “วังน่านิมิต” และ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” เมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 และต้นปีพ.ศ. 2562 ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในมุมแห่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะด้านฐานานุศักดิ์ของสถาปัตยกรรมเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน

หลังจากนั้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 มีนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ซึ่งคุณใหม่ได้นำบางตอนของพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาเล่าใหม่ในอาคารเก่า โรงภาษีร้อยชักสามหรือศุลกสถาน ต่อด้วยนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา”เมื่อกลางปี พ.ศ. 2563 ที่แสดงภาพถ่ายฟิล์มกระจกหาชมยากซึ่งบันทึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆ รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7

“สิ่งที่จับต้องได้และสิ่งที่จับต้องไม่ได้มักจะอยู่ทับซ้อนกัน อย่างในนิทรรศการวังหน้าเราจะเห็นสิ่งนี้ผ่านลักษณะทางสถาปัตยกรรมในวังหน้าและชุดความเชื่อต่างๆ เราบอกได้ว่าใครอาศัยอยู่ที่วังนี้ผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น หน้าบัน เครื่องลำยอง นาคสะดุ้ง ศิลปะโขนก็เช่นกันมีระบบความเชื่อและแบบแผนและเราอยากสร้างสะพานเชื่อมระหว่างความร่วมสมัยกับประวัติศาสตร์” คุณใหม่กล่าว

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน แปลจากบทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยโดยสำนวนผู้เขียน

Fact File

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “เกร็ดโขน” ฉายที่ลิโด้ คอนเนค สยามสแควร์ ในวันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ. 2564
ศิลปะการแสดงเรื่อง Melancholy of Demon จัดแสดงที่ลิโด้ คอนเนคในระหว่างวันที่ 18-22 มีนาคม พ.ศ. 2564
การเสวนาโต๊ะกลมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ศิลปะโขนจัดที่ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสำรองบัตรและที่นั่งได้ที่ 18monkeysdancetheatre@gmail.com ,Line ID : Khon2021,Facebook: 18monkeysdancetheatre
รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.18monkeysdancetheatre.com/